fbpx

การนำเข้าแรงงานต่างด้าว MoU

นำเข้า-แรงงานต่างด้าว-mou

การจ้างแรงงานต่างด้าววิธีที่ถูกต้องและดีที่สุด คือ การยื่นขอนำเข้าแรงงานต่างด้าวแบบ MoU เพราะคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานแบบ MoU จะต้องถูกตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจากประเทศต้นทาง และ จาก ตม.ของไทยก่อนเข้าประเทศ บทความนี้มีรายละเอียดครบถ้วนจึงเหมาะสำหรับนายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวแบบ MoU

บริการนำเข้าแรงงานต่างด้าว-MoU-gif

สิ่งที่คุณต้องรู้ก่อนนำเข้าแรงงานต่างด้าว MoU

๑. ที่มาที่ไป ทำไมต้อง MoU?

๒. จำนวนแรงงานต่างด้าว MoU ในประเทศไทย

๓. การนำเข้าแรงงานต่างด้าว MoU คืออะไร?

๔. ใครที่สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวได้บ้าง?

๕. ขั้นตอนการนำเข้าฯ MoU ต้องทำอย่างไร?
๕.๑ ประเทศพม่า 🇲🇲
๕.๒ ประเทศลาว 🇱🇦
๕.๓ ประเทศกัมพูชา 🇰🇭
๕.๔ ประเทศเวียดนาม 🇻🇳

๖. เอกสารที่ใช้ในการขอนำเข้า MoU มีอะไรบ้าง?

๗. การขอใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวต้องทำอย่างไร?

๘. ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง คืออะไร?

๙. ขั้นตอนสุดท้าย การแจ้งเข้าทำงาน & ส่งใบรับรองแพทย์ ทำอย่างไร?

๑๐. เมื่อแรงงาน MoU อยู่ครบ ๔ ปี ต้องทำอย่างไร?

๑๑. เงื่อนไขอื่น ๆ ที่คุณจำเป็นต้องรู้

labour-laws

ในปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับล่าง หรือแรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled Labors) ซึ่งเป็นลักษณะของการทำงานประเภท ๓ D คือ งานสกปรก (Dirty Job) งานอันตราย (Dangerous Job) และ งานยาก (Difficult Job) ที่ปัจจุบันแรงงานไทยไม่ทำ และไม่สามารถจัดหาแรงงานไทยเข้าทำงานได้ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน นายจ้าง/ผู้ประกอบการจึงมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการใช้แรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา และ เวียดนาม

ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ก็เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยในลักษณะการเข้าเมืองแบบถูกกฎหมาย และผิดกฎหมายกันเป็นจำนวนมาก ด้วยเพราะปัจจัยเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของไทยสูงกว่าประเทศเหล่านี้ รวมถึงปัจจัยด้านความมั่นคงของชีวิตที่ดีกว่า เพื่อให้รอดพ้นจากความอดอยากยากจน และความปลอดภัยจากการสู้รบ ตลอดแนวเขตชายแดนของไทยก็จะมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งแบบมาอยู่ทำงานในระยะยาวและมาทำงานตามฤดูกาล ไม่ว่าจะเป็นงานรับใช้ในบ้าน งานกรรมกรทั่วไป งานเกษตรกรรม และ งานลูกเรือประมง ซึ่งการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ เป็นการลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย ทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศเป็นอย่างมาก

Credit รูปภาพจาก Bangkok Post

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลจึงได้มีมาตรการการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศแบบถูกกฎหมาย ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงานระหว่างรัฐ (MoU) เพื่อให้สถานประกอบการมีแรงงานถูกกฎหมายอย่างพอเพียง และ เพื่อให้รัฐสามารถบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้แรงงานต่างด้าว MoU ที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ก็ยังจะได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของไทย รวมถึง การคุ้มครองตามหลักสากล ปัจจุบันนายจ้างสามารถนำเข้าแรงงาน MoU ได้ทั้งหมด ๔ ประเทศ โดยไทยได้เริ่มต้นจัดทำ MoU กับ ลาว เป็นประเทศแรกในปี ๒๕๔๕ และต่อมาในปี ๒๕๔๖ ได้จัดทำ MoU เพิ่มอีก ๒ ประเทศ คือ กัมพูชา และ พม่า และล่าสุดในปี ๒๕๖๐ ไทยได้จัดทำ MoU กับ เวียดนาม การจัดทำ MoU ทั้งหมดนี้ได้กำหนดวัตถุประสงค์ร่วมกันระหว่างประเทศไทยและประเทศคู่ภาคี ดังนี้
๑. เพื่อให้มีขั้นตอนที่เหมาะสมและถูกกฎหมาย
๒. เพื่อให้มีกระบวนการส่งกลับแรงงานต่างด้าวที่มีประสิทธิภาพ
๓. เพื่อให้มีการคุ้มครองแรงงานตามกฎหมาย
๔. ป้องกันการลักลอบข้ามแดน การค้าแรงงาน และการจ้างงานโดยมิชอบ

นอกจากการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงานระหว่างรัฐ (MoU) ยังมีการทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างประเทศไทยและประเทศคู่ภาคี เพื่อปรับปรุงแนวทางการดำเนินการให้ทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบันภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงานระหว่างรัฐ (MoU) อีกด้วย

จำนวนแรงงานต่างด้าว MoU ในประเทศไทย

ตัวเลขของแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงานระหว่างรัฐ (MoU) จากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ณ วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๔ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น ๕๙๔,๔๐๘ คน

การนำเข้า-mou
  • เป็นแรงงานจากประเทศพม่า จำนวน ๓๒๔,๘๖๙ คน
  • เป็นแรงงานจากประเทศลาว จำนวน ๑๑๖,๓๗๒ คน
  • เป็นแรงงานจากประเทศกัมพูชา จำนวน ๑๕๓,๐๓๐ คน
  • เป็นแรงงานจากประเทศเวียดนาม จำนวน ๑๓๗ คน

การนำเข้าแรงงานต่างด้าว MoU คืออะไร?

การนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานภายใต้ MoU คือ การที่นายจ้างแจ้งความต้องการขอนำเข้าแรงงานต่างด้าวจากประเทศที่ทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงานระหว่างรัฐ กับกรมการจัดหางาน, กระทรวงแรงงาน โดยนายจ้างจะต้องยื่นแบบ นจ.๒ และ เอกสารอื่น ๆ ที่อธิบดีกำหนด ที่สำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่/กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

นำเข้า-mou-01

ผู้ที่สามารถนำเข้าแรงงานต่างด้าวได้

พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๖๐ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๑ ได้กำหนดให้การนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทยสามารถทำได้ ๒ วิธี ดังนี้

๑. นายจ้างดำเนินการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับตนในประเทศด้วยตนเอง
๒. นายจ้างมอบอำนาจให้ บริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ (บนจ.) เป็นผู้ดำเนินการแทน

ขั้นตอนการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตามระบบ-MoU

Credit รูปภาพจาก สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว

ขั้นตอนการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตามระบบ MoU

พม่า-myanmar

ประเทศพม่า 🇲🇲

๑. ยื่นแบบคำร้องขอนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ
นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) ยื่นแบบคำร้องขอนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ (Demand Letter) ที่สำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่/กระทรวงแรงงาน
๒. ส่งแบบคำร้องฯ ไปที่ประเทศพม่า
เมื่อแบบคำร้องฯ ได้รับการอนุมัติแล้ว นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) ส่งแบบคำร้องฯ นี้ผ่าน บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกแรงงานพม่า (เอเจนซี่พม่า) เพื่อส่งต่อไปยังกระทรวงแรงงานของประเทศพม่า ณ เมืองเนปิดอร์ (Naypyidaw)
๓. การดำเนินการของประเทศพม่า
เมื่อกระทรวงแรงงานของพม่าอนุมัติคำร้องฯ แล้วเอเจนซี่พม่าก็จะประกาศรับสมัครพนักงาน, คัดเลือก และ ทำสัญญา กับคนที่ต้องการจะมาทำงานกับนายจ้างที่ประเทศไทย
๔. เซ็นสัญญาที่ประเทศพม่า
หลังจากที่เอเจนซี่พม่าคัดเลือกคนได้แล้ว นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) ก็จะต้องเดินทางไปเซ็นสัญญาที่ Skill Training Center, Ministry of Labour ของประเทศพม่า ณ เมืองย่างกุ้ง (Yangon)
๕. รับ “บัญชีรายชื่อ”
เมื่อ นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) เซ็นสัญญาเสร็จแล้ว ประมาณ ๑ สัปดาห์ เอเจนซี่พม่าจะจัดทำบัญชีรายชื่อ (Name List) และจะส่งมาให้ นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) เพื่อนำไปจ่ายค่าใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว
๖. ยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว
นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) ยื่นบัญชีรายชื่อ (Name List) ที่สำนักงานจัดหางาน และ จ่ายเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว จากนั้นกรมการจัดหางานจะจัดทำ Calling VISA
๗. รับแรงงานพม่าเพื่อข้ามแดน
เมื่อได้รับ Calling VISA มาแล้วให้ส่งสำเนา Calling VISA และสำเนาใบเสร็จค่าใบอนุญาตทำงานให้เอเจนซี่พม่า และรอให้กระทรวงแรงงานของพม่าอนุมัติ เมื่อได้รับอนุมัติ ให้ นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) เดินทางไปเซ็นรับตัวแรงงานพม่าเพื่อข้ามแดนที่ สำนักงานส่งแรงงานข้ามแดนที่ เจ๊าลงจี (Kyout Lone Gyi) ณ เมืองเมียวดี (Myawaddy) หรือ ที่ เกาะสอง (Kawthaung)
๘. ด่านตรวจคนเข้าเมือง
นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) พาแรงงานพม่าไปตรวจลงตราที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก หรือ ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดระนอง
๙. พาแรงงานพม่าเข้าสถานกักกันโรค -> ตรวจโรค -> อบรม
เมื่อแรงงานพม่าผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองเรียบร้อยแล้ว นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) พาแรงงานพม่าไปเข้าสู่กระบวนการของการกักกันโรค ณ สถานที่ที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล โดยค่าใช้จ่ายในการกักตัวนี้นายจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อผ่านการกักกันโรคแล้ว ไปตรวจโรค และเข้ารับการอบรม ณ ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง เมื่อเสร็จขั้นตอนแล้วคนต่างด้าวก็จะสามารถเดินทางไปที่สถานประกอบการของนายจ้างได้
๑๐. แจ้งเข้าทำงาน ส่งใบรับรองแพทย์
เมื่อคนต่างด้าวเข้ามาถึงสถานที่ทำงานแล้ว ให้ นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) ดำเนินการแจ้งคนต่างด้าวเข้าทำงานภายใน ๑๕ วัน พร้อมส่งใบรับรองแพทย์ให้กับนายทะเบียน ณ สำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

ลาว-laos

ประเทศลาว 🇱🇦

๑. ยื่นแบบคำร้องขอนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ
นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) ยื่นแบบคำร้องขอนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ (Demand Letter) ที่สำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่/กระทรวงแรงงาน
๒. ส่งแบบคำร้องฯ ไปที่ประเทศลาว
เมื่อแบบคำร้องฯ ได้รับการอนุมัติแล้ว นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) ส่งสำเนาแบบคำร้องฯ นี้ผ่าน บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกแรงงานลาว (เอเจนซี่ลาว) เพื่อส่งต่อไปยังกระทรวงแรงงานของประเทศลาว ณ เมืองเวียงจันทน์ (Vientiane)
๓. การดำเนินการของประเทศลาว
เมื่อกระทรวงแรงงานของลาวอนุมัติคำร้องฯ แล้ว เอเจนซี่ลาวก็จะประกาศรับสมัครพนักงาน, คัดเลือก และ ทำสัญญา กับคนที่ต้องการจะมาทำงานกับนายจ้างที่ประเทศไทย
๔. รับ “บัญชีรายชื่อ”
จากนั้นเอเจนซี่ลาวจะจัดทำเอกสาร ได้แก่ ใบอนุญาตให้จัดส่งแรงงาน (เป็นภาษาอังกฤษ), บัญชีรายชื่อ (Name List), สำเนาหนังสือเดินทาง, สำเนาบัตรฉีดวัคซีน และ รูปถ่าย ส่งมาให้ นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) เพื่อนำไปจ่ายค่าใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว
๕. ยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว
นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) ยื่นบัญชีรายชื่อ (Name List) ที่สำนักงานจัดหางาน และ จ่ายเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว จากนั้นกรมการจัดหางานจะจัดทำ Calling VISA
๖. การดำเนินการของประเทศลาว ๒
เมื่อได้ Calling VISA แล้ว นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) ส่งสำเนา calling VISA นี้ให้เอเจนซี่ลาวเพื่อทำ VISA ให้แรงงานลาว ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศลาว ณ เมืองเวียงจันทน์ (Vientiane)
๗. ด่านตรวจคนเข้าเมือง
เมื่อแรงงานลาวได้รับ VISA เรียบร้อยแล้วก็จะเดินทางเข้ามาที่ประเทศไทยผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดหนองคายเพื่อตรวจลงตรา
๘. พาแรงงานลาวเข้าสถานกักกันโรค -> ตรวจโรค -> อบรม
เมื่อแรงงานลาวผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองเรียบร้อยแล้ว นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) พาแรงงานลาวไปเข้าสู่กระบวนการของการกักกันโรค ณ สถานที่ที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล โดยค่าใช้จ่ายในการกักตัวนี้นายจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อผ่านการกักกันโรคแล้ว ไปตรวจโรค และเข้ารับการอบรม ณ ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง เมื่อเสร็จขั้นตอนแล้วคนต่างด้าวก็จะสามารถเดินทางไปที่สถานประกอบการของนายจ้างได้
๙. แจ้งเข้าทำงาน ส่งใบรับรองแพทย์
เมื่อคนต่างด้าวเข้ามาถึงสถานที่ทำงานแล้ว ให้ นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) ดำเนินการแจ้งคนต่างด้าวเข้าทำงานภายใน ๑๕ วัน พร้อมส่งใบรับรองแพทย์ให้กับนายทะเบียน ณ สำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

กัมพูชา-cambodia

ประเทศกัมพูชา 🇰🇭

๑. ยื่นแบบคำร้องขอนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ
นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) ยื่นแบบคำร้องขอนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ (Demand Letter) ที่สำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่/กระทรวงแรงงาน
๒. ส่งแบบคำร้องฯ ไปที่ประเทศกัมพูชา
เมื่อแบบคำร้องฯ ได้รับการอนุมัติแล้ว นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) ส่งสำเนาแบบคำร้องฯ นี้ผ่าน บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกแรงงานกัมพูชา (เอเจนซี่กัมพูชา) เพื่อส่งต่อไปยังกระทรวงแรงงานของประเทศกัมพูชา ณ กรุงพนมเปญ (Phnom Penh)
๓. การดำเนินการของประเทศกัมพูชา
เมื่อกระทรวงแรงงานของกัมพูชาอนุมัติคำร้องฯ แล้วเอเจนซี่กัมพูชาก็จะประกาศรับสมัครพนักงาน, คัดเลือก และ ทำสัญญา กับคนที่ต้องการจะมาทำงานกับนายจ้างที่ประเทศไทย
๔. รับ “บัญชีรายชื่อ”
จากนั้นเอเจนซี่กัมพูชาจะจัดทำเอกสาร ได้แก่ ใบอนุญาตให้จัดส่งแรงงาน (เป็นภาษาอังกฤษ), บัญชีรายชื่อ (Name List), สำเนาหนังสือเดินทาง, สำเนาบัตรฉีดวัคซีน และ รูปถ่าย ส่งมาให้ นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) เพื่อนำไปจ่ายค่าใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว
๕. ยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว
นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) ยื่นบัญชีรายชื่อ (Name List) ที่สำนักงานจัดหางาน และ จ่ายเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว จากนั้นกรมการจัดหางานจะจัดทำ Calling VISA
๖. การดำเนินการของประเทศกัมพูชา ๒
เมื่อได้ Calling VISA แล้ว นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) ส่งสำเนา calling VISA นี้ให้เอเจนซี่กัมพูชาเพื่อทำ VISA ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศกัมพูชา ณ กรุงพนมเปญ (Phnom Penh)
๗. ด่านตรวจคนเข้าเมือง
เมื่อแรงงานกัมพูชาได้รับ VISA เรียบร้อยแล้วก็จะเดินทางเข้ามาที่ประเทศไทยผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้วเพื่อตรวจลงตรา
๘. พาแรงงานกัมพูชาเข้าสถานกักกันโรค -> ตรวจโรค -> อบรม
เมื่อแรงงานกัมพูชาผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองเรียบร้อยแล้ว นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) พาแรงงานกัมพูชาไปเข้าสู่กระบวนการของการกักกันโรค ณ สถานที่ที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล โดยค่าใช้จ่ายในการกักตัวนี้นายจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อผ่านการกักกันโรคแล้ว ไปตรวจโรค และเข้ารับการอบรม ณ ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง เมื่อเสร็จขั้นตอนแล้วคนต่างด้าวก็จะสามารถเดินทางไปที่สถานประกอบการของนายจ้างได้
๙. แจ้งเข้าทำงาน ส่งใบรับรองแพทย์
เมื่อคนต่างด้าวเข้ามาถึงสถานที่ทำงานแล้ว ให้ นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) ดำเนินการแจ้งคนต่างด้าวเข้าทำงานภายใน ๑๕ วัน พร้อมส่งใบรับรองแพทย์ให้กับนายทะเบียน ณ สำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

เวียดนาม-Vietnam

ประเทศเวียดนาม 🇻🇳

๑. ยื่นแบบคำร้องขอนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ
นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) ยื่นแบบคำร้องขอนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ (Demand Letter) ที่สำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่/กระทรวงแรงงาน
๒. ส่งแบบคำร้องฯ ไปที่ประเทศเวียดนาม
เมื่อแบบคำร้องฯ ได้รับการอนุมัติแล้ว นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) ส่งแบบคำร้องฯ นี้ผ่าน บริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกแรงงานเวียดนาม (เอเจนซี่เวียดนาม) เพื่อส่งต่อไปยังกรมแรงงานของประเทศเวียดนาม ณ นครโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh City)
๓. การดำเนินการของประเทศเวียดนาม
เมื่อกรมแรงงานของเวียดนามอนุมัติคำร้องฯ แล้วเอเจนซี่เวียดนามก็จะประกาศรับสมัครพนักงาน, คัดเลือก และ ทำสัญญาจ้างแรงงาน หรือ สัญญาจ้างในงานประมงทะเล กับคนที่ต้องการจะมาทำงานกับนายจ้างที่ประเทศไทย
๔. รับ “บัญชีรายชื่อ”
เอเจนซี่จัดทำบัญชีรายชื่อ (Name List) พร้อมสัญญาจ้างแรงงาน หรือ สัญญาจ้างในงานประมงทะเลส่งให้ นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) เพื่อนำไปจ่ายค่าใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว
๕. ยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว
นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) ยื่นบัญชีรายชื่อ (Name List) ที่สำนักงานจัดหางาน และ จ่ายเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว จากนั้นกรมการจัดหางานจะจัดทำ Calling VISA
๖. รับแรงงานพม่าเพื่อข้ามแดน
เมื่อได้รับ Calling VISA มาแล้วให้ส่งสำเนา Calling VISA และสำเนาใบเสร็จค่าใบอนุญาตทำงานให้เอเจนซี่พม่า และรอให้กระทรวงแรงงานของพม่าอนุมัติ เมื่อได้รับอนุมัติ ให้ นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) เดินทางไปเซ็นรับตัวแรงงานพม่าเพื่อข้ามแดนที่ สำนักงานส่งแรงงานข้ามแดนที่เจ๊าลงจี (Kyout Lone Gyi) ณ เมืองเมียวดี (Myawaddy)
๗. พาแรงงานพม่าผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง
นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) พาแรงงานพม่าไปตรวจลงตราที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตาก
๘. พาแรงงานพม่าเข้าสถานกักกันโรค -> ตรวจโรค -> อบรม
เมื่อแรงงานพม่าผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดตากเรียบร้อยแล้ว นายจ้าง/ผู้ได้รับอนุญาต (บนจ.) พาแรงงานพม่าไปเข้าสู่กระบวนการของการกักกันโรค ณ สถานที่ที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล โดยค่าใช้จ่ายในการกักตัวนี้นายจ้างจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เมื่อผ่านการกักกันโรคแล้ว ไปตรวจโรค และเข้ารับการอบรม ณ ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อเสร็จขั้นตอนแล้วคนต่างด้าวก็จะสามารถเดินทางไปที่สถานประกอบการของนายจ้างได้
๙. แจ้งเข้าทำงาน ส่งใบรับรองแพทย์
เมื่อคนต่างด้าวเข้ามาถึงสถานที่ทำงานแล้ว ให้ดำเนินการแจ้งคนต่างด้าวเข้าทำงานภายใน ๑๕ วัน พร้อมส่งใบรับรองแพทย์ให้กับนายทะเบียน ณ สำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

“ ขั้นตอนเหล่านี้ผมเขียนอธิบายไว้แบบคร่าว ๆ เท่านั้น คุณจำเป็นจะต้องศึกษารายละเอียดให้ดี หากคุณเป็นมือใหม่ โปรดใช้ความระมัดระวัง ”

เอกสารในการขอนำเข้าแรงงาน MoU

๑. คำร้องขอนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ (แบบ นจ.๒)
๒. หนังสือแต่งตั้ง (Power of Attorney)
๓. สัญญาจ้างแรงงาน (Employment Contract) กัมพูชา/ลาว/เมียนมา/เวียดนาม แล้วแต่กรณี หากนำแรงงานต่างด้าวไปลงเรือประมงต้องใช้สัญญาจ้างในงานประมงทะเล (Sea Fishery Work Employment) กัมพูชา/ลาว/เมียนมา/เวียดนาม แล้วแต่กรณี
๔. หนังสือยืนยันการนำเข้าแรงงานต่างด้าวภายใต้ MOU
๕. เอกสารนายจ้าง
๕.๑ (กรณีบุคคลธรรมดา) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน หรือ สำเนาหนังสือเดินทางและสำเนาวีซ่าและสำเนาใบอนุญาตทำงานกรณีนายจ้างเป็นคนต่างชาติ
๕.๒ (กรณีนิติบุคคล) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน หรือ สำเนาหนังสือเดินทางและสำเนาวีซ่าและสำเนาใบอนุญาตทำงานกรณีนายจ้างเป็นคนต่างชาติ ของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม และ สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (อายุไม่เกิน ๖ เดือน)
๖. สำเนาเอกสารเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ เช่น ทะเบียนพาณิชย์, สัญญาเช่า, โฉนดที่ดิน, ทะเบียนเรือ, สัญญาจ้าง เป็นต้น กรณีรับเหมาก่อสร้างต้องแนบสำเนาสัญญาจ้างและสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของบริษัทคู่ค้าในสัญญาจ้างพร้อมสำเนาบัตรประชาชนหรือสำเนาใบอนุญาตทำงานของผู้มีอำนาจลงนามของบริษัทคู่ค้าในสัญญาจ้าง
๗. แผนที่ตั้งสถานประกอบการ
๘. สำเนาสัญญานำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ กรณีนายจ้างมอบหมายให้ผู้รับอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ (บนจ.) เป็นผู้ดำเนินการ
๙. หนังสือมอบอำนาจ กรณี ดังนี้
๙.๑ มอบอำนาจให้ บนจ. แสดงหลักฐานสำเนาใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ (บต.๑) และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับอนุญา
๙.๒ มอบอำนาจให้ลูกจ้างของตน แสดงหลักฐานการส่งเงินสมทบประกันสังคมเดือนล่าสุด และ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
๙.๓ มอบอำนาจให้ สามี/ภรรยา/บุตร/บิดา/มารดา/พี่/น้อง แสดงหลักฐานสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านที่สามารถแสดงว่ามีความสัมพันธ์กันทางกฎหมาย
๑๐. สัญญา ๓ ภาษากับประเทศเมียนมา กรณีนำเข้าแรงงานจากประเทศเมียนมา

เอกสารที่เพิ่มเติมเข้ามาในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙

๑. สัญญา (COVID-19)
๒. เอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างยืนยันการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคโควิด-๑๙
๓. หนังสือยืนยัน (Letter of Confirmation)

อนึ่ง ให้นายจ้างกรอกเอกสารให้ครบถ้วนทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ โดยให้จัดทำเอกสาร ๓ ชุด (ต้นฉบับ ๓ ชุด ส่งให้ประเทศต้นทาง และสำเนา ๒ ชุด ให้หน่วยงานที่รับคำร้องเก็บไว้ ๑ ชุด และให้ผู้ยื่นคำร้องเก็บไว้ ๑ ชุด)

ใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ

ตัวอย่าง ใบอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ (บต.๑)

“ การเซ็นชื่อในเอกสารทุกฉบับต้องเซ็นเหมือนกัน ไม่ว่าเอกสารนั้นจะเป็นภาษาไทยหรือภาษาต่างประเทศ ถ้ามีตราประทับต้องประทับทุกแผ่นที่มีลายเซ็น ”

เอกสารเพิ่มเติมกรณีต่าง ๆ

  • กิจการเกษตร ปลูกพืชสวน พืชไร่ ให้เตรียมสำเนาโฉนดที่ดินหน้ากลัง ถ้าเป็นพื้นที่เช่าให้นำสัญญาเช่าและสำเนาเอกสารคู่สัญญามาด้วย
  • กิจการร้านค้า ร้านอาหาร จำหน่ายอาหาร กิจการโรงงาน โรงสี กิจการรีไซเคิล รับซื้อของเก่า อู่ซ่อมรถ ล้างอัดฉีด ให้เตรียมใบทะเบียนพาณิชย์ ถ้าเป็นพื้นที่เช่าให้นำสำเนาสัญญาเช่าและสำเนาเอกสารคู่สัญญามาด้วย
  • กิจการก่อสร้าง ให้เตรียมสำเนาสัญญารับเหมาก่อสร้าง สำเนาใบอนุญาตก่อสร้างสำเนาเอกสารของคู่สัญญาต้นฉบับมาด้วย
  • กิจการรับจ้างทำของ และกิจการรับจ้างอื่น ๆ ให้เตรียมสัญญารับจ้างทำของ หรือสัญญารับจ้างอื่น ๆ ที่ระบุรายละเอียดของสิ่งที่รับจ้างทำ สำเนาเอกสารหลักฐานของคู่สัญญา
work-permit-ใบอนุญาตทำงาน

ตัวอย่าง Work Permit – ใบอนุญาตทำงานแบบ MoU

การยื่นขอใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว

เมื่อนายจ้างได้รับบัญชีรายชื่อ (Name List) คนต่างด้าวจากประเทศต้นทาง ที่ผ่านการประทับตราและลงรายมือชื่อรับรองอย่างเป็นทางการจากกระทรวงแรงงานของประเทศต้นทางแล้ว ให้ยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดหรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ที่ยื่นคำร้องขอนำเข้าคนต่างด้าว พร้อมเอกสาร ดังนี้

๑. แบบคำขอรับใบอนุญาตทำงาน (ตท.๒)
๒. หนังสือรับรองการจ้างตามแบบที่กำหนด
๓. สำเนาหนังสือเดินทางหรือสำเนาเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง
๔. บัญชีรายชื่อของคนต่างด้าว (Name List) แยกตามสัญชาติ มีเอกสารประกอบ ดังนี้
๔.๑ กรณีคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา/ลาว เอกสารประกอบด้วย บัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (Name List) สัญชาติกัมพูชา / ลาว ที่ผ่านการรับรองจากประเทศต้นทาง โดยให้ระบุด่านตรวจคนเข้าเมืองที่คนต่างด้าวจะเดินทางเข้ามา และสำเนาหนังสือนำส่งคำร้องของหน่วยงานในสังกัดกรมการจัดหางานถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบของกัมพูชา / ลาว
๔.๒ กรณีคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา เอกสารประกอบด้วย หนังสือนำส่งจากสถานเอกอัครฑูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา พร้อมบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (Name List) สัญชาติเมียนมาที่มีการประทับตรา และลงลายมือชื่อรับรองจากประเทศต้นทาง และสำเนาหนังสือนำส่งคำร้องของหน่วยงานในสังกัดกรมการจัดหางานถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบของเมียนมา
๔.๓ กรณีคนต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม ใช้เอกสารประกอบด้วย บัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (Name List) ที่ผ่านการรับรองจากประเทศต้นทาง และสำเนาใบแจ้งความต้องการนำเข้าแรงงานสัญชาติเวียดนาม
๕. รูปถ่ายครึ่งตัว หน้าตรง ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่นตาสีเข้ม ขนาด ๓ X ๔ เซนติเมตร ซึ่งถ่ายมาแล้วไม่เกิน ๖ เดือน จำนวน ๓ รูป
๖. หลักฐานนายจ้าง
๖.๑ กรณีนายจ้างเป็นบุคคลธรรมดา สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาหนังสือเดินทาง (กรณีเป็นคนต่างด้าว)
๖.๒ กรณีนายจ้างเป็นนิติบุคคล สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการของผู้มีอำนาจลงนาม หรือสำเนาใบอนุญาตทำงานกรณีนายจ้างเป็นคนต่างด้าว และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นต้น
๗. สำเนาสัญญานำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ กรณีนายจ้างมอบหมายให้ผู้รับอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศเป็นผู้ดำเนินการ
๘. หนังสือมอบอำนาจ ดังนี้
๘.๑ กรณีมอบอำนาจให้ผู้รับอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ (บต.๑)
๘.๒ กรณีมอบอำนาจให้พนักงานบริษัท/ลูกจ้างของบุคคลธรรมดา แสดงหลักฐานการส่งเงินสมทบประกันสังคมเดือนล่าสุด สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน
๘.๓ กรณีบุคคลธรรมดามอบให้สามี/ภรรยา/บุตร/บิดา/มารดา/พี่/น้อง ต้องแสดงหลักฐานสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน ที่แสดงว่ามีความสัมพันธ์กันตามกฎหมาย
๙. แผนที่แสดงที่ตั้งสถานที่ทำงาน

ศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง (จังหวัดตาก สระแก้ว และหนองคาย)

เนื่องจากคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา และ เวียดนาม เมื่อเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้วมักจะประสบปัญหาเกี่ยวกับความไม่เข้าใจในด้านต่าง ๆ เช่น สัญญาจ้าง ภาษาไทย วัฒนธรรม กฎหมาย การใช้ชีวิตในเมืองไทย เป็นต้น

เมื่อไม่เข้าใจก็ทำให้เกิดปัญหา ทั้งกับนายจ้าง เพื่อนร่วมงาน รวมถึงคนไทยที่เกี่ยวข้อง เกิดปัญหาการละทิ้งงาน หลบหนีนายจ้าง ลักลอบทำงานอย่างผิดกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายต่อนายจ้าง เศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม

ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวคณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ให้กรมการจัดหางาน จัดตั้งศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

๑. อบรมให้ได้รับความรู้ด้านต่าง ๆ เช่น สัญญาจ้าง ภาษา ขนมธรรมเนียมประเพณี และการใช้ชีวิตในประเทศไทย โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ แจ้งรายชื่อคนต่างด้าวที่ได้รับการอบรมแล้วให้สำนักงานจัดหางานจังหวัดหรือสำนักงานกรุงเทพเขตพื้นที่ และกรมการจัดหางานทราบ
๒. ตรวจ คัดกรองคนต่างด้าวว่ามีนายจ้างจริงตามสัญญา และมีความพร้อมที่จะทำงาน
๓. เป็นศูนย์ประสานงานระหว่างนายจ้างและคนต่างด้าว
๔. เป็นจุดพักรอแรงงานเดินทางกลับประเทศเมื่อครบสัญญาจ้าง และตรวจสอบสิทธิที่คนต่างด้าวพึงจะได้รับ เช่น สิทธิขอรับเงินส่งกลับจากกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร

การแจ้งเข้าทำงาน และการส่งใบรับรองแพทย์

ใบรับรองแพทย์-แม่สอด-ราม

เมื่อคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยให้ดำเนินการดังนี้

๑. เข้ารับการตรวจสุขภาพ ณ สถานพยาบาลที่มีแพทย์ผู้ตรวจได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม
๒. นำใบรับรองแพทย์ไปแจ้งเข้าทำงาน ณ สำนักจัดหางานในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
๓. คนต่างด้าวเข้าทำงานในสถานประกอบการ

คนต่างด้าวครบวาระการจ้างงาน ๔ ปี

เมื่อครบกำหนดวาระการจ้าง (๔ ปี) แล้ว คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมาจะต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางโดยผ่านศูนย์แรดรับเข้าทำงาน และสิ้นสุดการจ้างเพื่อตรวจสอบสิทธิประโยชน์ที่คนต่างด้าวพึงจะได้รับ เช่น สิทธิขอรับเงินส่งกลับจากกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร

ส่วนคนต่างด้าวสัญชาติเวียดนามจะเดินทางกลับระเทศโดยไม่ต้องผ่านศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง

สำหรับคนต่างด้าวที่เดินทางกลับประเทศต้นทางแล้ว หากต้องการกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยใหม่ต้องเว้นระยะพำนักในประเทศต้นทาง ๓๐ วัน โดยนายจ้างต้องยื่นคำร้องขอนำเข้าคนต่างด้าวเข้มาทำงานกับนายจ้างในประเทศตามระบบ MoU ต่อไป

เงื่อนไขอื่น ๆ ที่คุณต้องรู้

๑. ประเทศเมียนมาไม่อนุญาตให้บุคคลธรรมดานำเข้าคนเมียนมา
๒. ประเทศเมียนมาไม่อนุญาตให้นำเข้าคนเมียนมาเข้ามาทำงานในตำแหน่งผู้รับใช้ในบ้าน

๓. การนำเข้าคนเมียนมาเพศหญิงจะต้องมีจำนวนไม่ต่ำกว่า ๕ คน/ครั้ง
๔. ยื่นคำร้องขอนำเข้าแรงานต่างด้าวได้ไม่เกิน ๒๐๐ คน/ครั้ง
๕. ห้ามธุรกิจรับเหมาแรงงานยื่นขอนำเข้าแรงงานต่างด้าว
๖. นายจ้างต้องทำหนังสือรับรองใน ๓ กรณี ดังนี้
๖.๑ กรณีนายจ้างนำเข้าแรงงานต่างด้าวไปทำงานที่จังหวัดในพื้นที่ภาคใต้
๖.๒ กรณีนายจ้างยื่นคำร้องขอนำเข้าเกิน ๒๐๐ คน
๖.๓ กรณีนายจ้างทำกิจการรับจ้างทำของ หรือ รับจ้างทั่วไป
๗. หนังสือที่หน่วยงานในสังกัดกรมการจัดหางานนำส่งคำร้องให้ประเทศต้นทาง มีอายุการใช้งาน ๖ เดือน นับแต่วันที่ออก
๘. กรณีนายจ้างเปลี่ยนบริษัทจัดหางานของประเทศต้นทาง ให้นายจ้างชี้แจงและจัดทำสัญญาจ้างแรงงานและหนังสือแต่งตั้งฉบับใหม่ให้เจ้าหน้าที่รับรอง และ ต้องนำหนังสือฉบับเดิมมาคืน
๙. ติดอากรแสตมป์ ๑๐ บาท ในหนังสือมอบอำนาจ สำหรับยื่นเอกสาร
๑๐. ติดอากรแสตมป์ ๓๐ บาท ในหนังสือมอบอำนาจ กรณีให้ลงนามแทนนายจ้าง

หมายเหตุ เงื่อนไขตามข้อ ๑, ๒ และ ๓ ทางประเทศเมียนมาจะผ่อนปรนให้ กรณีที่คนเมียนมาผู้นั้นเคยทำงานอยู่ในประเทศไทยมาก่อนเท่านั้น

ใส่ความเห็น

error: Content is protected !!